Skip to main content

15 สัญญาณเตือน อาการคนท้อง ระยะแรกหรือช่วง 1-4 สัปดาห์

15 สัญญาณเตือน อาการคนท้อง ระยะแรกหรือช่วง 1-4 สัปดาห์

4pic.png

อาการคนท้องในช่วงแรกมักมีความคล้ายคลึงกับอาการใกล้มีประจำเดือน ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่ทราบว่ากำลังเริ่มตั้งครรภ์อ่อน ๆ เลยส่งผลให้ละเลยการดูแลตนเองในช่วงแรกไป วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลอาการคนท้อง พร้อมวิธีการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงแบบเข้าใจง่ายให้คุณแม่ดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องมาฝากกัน

ความรู้เกี่ยวกับ อาการคนท้อง 15 อาการที่คุณควรรู้

1. อารมณ์แปรปรวน อ่อนไหว หงุดหงิดง่ายแบบไม่มีสาเหตุ

2.jpg

เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้รู้สึกอารมณ์อ่อนไหวกว่าปกติทั้งในเชิงบวกและลบ หลายท่านจึงมีอาการหงุดหงิดและอารมณ์เสียได้ง่าย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพคุณแม่และพัฒนาการของลูก หากมีอาการเศร้าหรือวิตกกังวลต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อได้การวินิจฉัยอย่างถูกต้อง

2. อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

อาการคลื่นไส้ อาเจียน มักพบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือความเครียด แต่อาการจะลดลงเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์

3. อาการตึงคัดเต้านม

เต้านมของคุณแม่จะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ผิวรอบเต้านมจะบางลง ทำให้มีอาการคัน ปวดตึงเต้านม คุณแม่สามารถใช้เบบี้ออยล์ในการนวดเพิ่มความชุ่นชื้นให้กับผิวโดยรอบ และช่วยผ่อนคลายความปวดตึงของเต้านมได้

4. มีตกขาวเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และการป้องกันการติดเชื้อของช่องคลอด ทำให้ร่างกายมีตกขาวเพิ่มมากกว่าปกติ โดยตกขาวที่มีลักษณะเป็นสีขาวขุ่น ไม่มีกลิ่นหรืออาการคัน ถือว่าไม่เป็นอันตราย คุณแม่ควรหมั่นดูแลความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

5. ท้องผูก ท้องอืด เพราะฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้กระบวนการย่อยอาหารช้าลง ส่งผลให้คุณแม่มีอาการท้องผูกและท้องอืด ควรบริโภคอาหารที่เสริมใย เช่น ผักใบเขียว, ผลไม้สด และดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อกระตุ้นกระบวนการย่อยอาหารให้เป็นปกติ

6. รู้สึกเหนื่อยง่ายหายใจถี่

อาการง่วงเพลีย เหนื่อยง่าย เกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงขึ้น คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอและปรับอุณหภูมิห้องให้เย็น เนื่องจากร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นในระยะแรก อีกทั้งคุณแม่ยังต้องการออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของทารก จึงส่งผลให้รู้สึกหายใจไม่สะดวกหรือหายใจถี่ ๆ

7. หน้ามืดและปวดหัวได้ง่าย

การปวดหัว หน้ามืด เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และการไหลเวียนของเลือดที่เพิ่มขึ้นในร่างกาย เมื่อร่างกายค่อย ๆ ปรับตัวอาการจะเหล่านี้จะลดลง สำหรับคุณแม่ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

8. อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น

1.jpg

ร่างกายของคุณแม่มีกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อและการสร้างเลือด เพื่อลำเลียงอาหารไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายมีแนวโน้มสูงขึ้นเหมือนมีไข้ต่ำ ๆ ซึ่งเป็นอาการปกติในช่วงเริ่มตั้งครรภ์

9. ปวดหลัง

ช่วงการตั้งครรภ์นั้นมีอาการปวดหลังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวของคนท้องที่เป็นสาเหตุให้มีอาการปวดหลัง คุณแม่ควรเปลี่ยนอิริยาบถตามความเหมาะสม หรือใช้เบาะรองหลังที่รองรับรูปร่างเพื่อช่วยลดแรงกดได้

10. ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

ในช่วงทารกเจริญเติบโต และต้องการพื้นที่ในการเคลื่อนไหว มดลูกจะเคลื่อนตัวไปเบียดทับกระเพาะปัสสาวะของคุณแม่ ทำให้มีความรู้สึกต้องการปัสสาวะบ่อยมากขึ้น

11. ไวต่อกลิ่น

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มระดับการไหลเวียนเลือดไปสู่จุดต่าง ๆ ทำให้คุณแม่รับรู้กลิ่นได้ไวกว่าคนทั่วไป

12. มีเลือดออกมาจากช่องคลอดกะปริดกะปรอย

อาการของคนตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกจากช่องคลอดหรือที่หลายคนเรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก เกิดจากการฝังตัวของไข่ที่ผนังมดลูก ทำให้มีเลือดสีชมพูไหลออกมาเล็กน้อย แต่หากคุณแม่มีเลือดออกจำนวนมากอาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรควรรีบพบแพทย์ทันที

13. อยากอาหารบางอย่างเป็นพิเศษ

ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งมีผลต่อระดับพลังงานและสารอาหารที่ต้องการ นอกจากนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ยังมีผลต่อระบบรับรส และกลิ่น ทำให้คุณแม่มีความอยากกินอาหารแปลก ๆ หรืออาหารที่ไม่ค่อยชอบในปกติ

14. เบื่อหรือมีอาการพะอืดพะอมจากอาหาร

อาการไม่อยากอาหารเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ และฮอร์โมนในร่างกาย คุณแม่อาจรับรู้กลิ่นของอาหารได้ง่ายขึ้นหรือรู้สึกพะอืดพะอม ทำให้การรับรู้รสอาหารเปลี่ยนไป บางครั้งอาหารที่เคยชอบอาจไม่ได้รับความชื่นชอบเช่นเดิม ซึ่งเป็นสาเหตุให้รู้สึกเบื่ออาหารขณะตั้งครรภ์

15. ขาดประจำเดือน

อีกหนึ่งอาการเตือนคนเริ่มท้องที่สังเกตได้ง่ายคือการขาดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ทำให้ไข่ไม่ตกจึงขาดประจำเดือน

16. การเปลี่ยนสีผิวของลานนมและการเพิ่มขนาดของเต้านม

ช่วงแรกของการตั้งครรภ์คุณแม่จะรู้สึกปวดตึงเต้านม เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนจะกระตุ้นการทำงานของท่อน้ำนม หลังจากนั้นเต้านมและลานนมจะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งคุณแม่สามารถใช้เบบี้ออยล์ช่วยบำรุงบริเวณที่ผิวขยายให้มีความชุ่มชื้นเพื่อลดอาการคันที่อาจเกิดขึ้นได้

เมื่อรู้ว่าตั้งท้องควรทำอย่างไร

new_project_1.png

อันดับแรกที่คุณแม่ควรทำ คือ การตรวจครรภ์เบื้องต้นด้วยตัวเอง โดยใช้ที่ตรวจครรภ์ตรวจจากปัสสาวะ เพื่อยืนยันว่าอาการคนท้องใน 24 ข้อด้านบนเกิดขึ้นเพราะการตั้งครรภ์จริง ๆ หากผลลัพธ์ออกมาว่าตั้งครรภ์ ขั้นตอนต่อไป คือ การไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจยืนยันการตั้งครรภ์อีกครั้งและทำการฝากครรภ์ ในการฝากครรภ์ คุณหมอจะให้คำแนะนำคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มดูแลตัวเอง การปฏิบัติตัว และข้อพึงระวังในระหว่างตั้งครรภ์ให้ จากนั้นคุณหมอจะมอบสมุดสำหรับการฝากครรภ์ รวมถึงทำการนัดหมายในครั้งต่อไปเพื่อทำการตรวจครรภ์และติดตามอาการของคุณแม่ โดยจะกำหนดระยะเวลาการตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 40 สัปดาห์ หรือ 9 เดือน

วิธีดูแลตัวเองเมื่อรู้ว่าตั้งท้อง

  1. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำให้เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและระดับสติปัญญาของทารก
  2. รับประทานวิตามินเสริมในปริมาณที่เหมาะสม ตามคำแนะนำของแพทย์ที่รับฝากครรภ์
  3. หมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติในระหว่างตั้งครรภ์
  4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้คุณแม่และลูกในท้องมีสุขภาพกายและใจที่ดี ทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด
  5. ทำอารมณ์ให้แจ่มใสและหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะเมื่อร่างกายของคุณแม่จะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมาจะทำให้ลูกในครรภ์รับรู้อารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ ได้ผ่านทางกระแสเลือดได้ อีกทั้งทำให้เส้นเลือดเกิดการหดตัว ทำให้ลำเลียงออกซิเจนได้ไม่ดี ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อีกด้วย
  6. งดสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติดทุกชนิด รวมถึงอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ด้วย
  7. งดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภายนอกหรือการใช้ภายใน
  8. หากจำเป็นต้องรับประทานยาใด ๆ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง และควรปรึกษาแพทย์ที่รับฝากครรภ์ก่อนทุกครั้ง
  9. ไปพบแพทย์ที่รับฝากครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ทราบถึงพัฒนาการของลูกในท้อง ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมคุณหมอจะทำการอัลตร้าซาวน์เพื่อให้ทราบเพศของลูก
  10. การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่อ่อนโยน ไม่มีสารเคมี และสามารถเก็บความชุ่มชื้นได้ดีและนานกว่าแบบทั่วไป อาจใช้เบบี้ออยล์หรือเบบี้โลชั่น ทาบำรุงผิวกายและท้องเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ขึ้นไป พุงคนท้องจะถูกยืดหรือดึงให้ขยายตัวออกอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดอาการท้องแตกลายได้

อาการคนท้องของคุณแม่บางท่านอาจไม่ได้เป็นทุกข้อตามข้างต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เช่น เงื่อนไขสุขภาพส่วนบุคคล แต่หากคุณแม่เข้าใจอาการดังกล่าวแล้ว จะช่วยให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และรู้วิธีดูแลตนเอง ที่สำคัญควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้สุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์แข็งแรงสมบูรณ์

ตอบข้อสงสัย อาการคนท้อง กับ JOHNSON'S Baby

Q. ใช้ชุดตรวจตั้งครรภ์ ขึ้นขีดเดียวแต่ท้อง เป็นไปได้ไหม?

A.ส่วนมากผลลัพธ์การตรวจครรภ์ที่ขึ้นขีดเดียว มักไม่ได้มีการตั้งครรภ์ หรือบางครั้งอาจยังตรวจไม่พบการตั้งครรภ์ เนื่องจากชุดตรวจครรภ์ไม่มีประสิทธิภาพ ช่วงเวลาที่ตรวจปัสสาวะเจือจางหรือตรวจเร็วเกินไป เพื่อความถูกต้องควรตรวจซ้ำอีกครั้งโดยรอให้เลยรอบเดือนประมาณ 7 วัน หรือเข้าตรวจกับคุณหมอโดยตรง

Q. ประจำเดือนขาดแต่ไม่ท้อง เป็นไปได้ไหม?

A.การขาดประจำเดือนแต่ไม่ได้ตั้งครรภ์ เป็นไปได้และเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด การออกกำลังกายหนักเกินไป การอดอาหาร ไข่ไม่ตกออกมาจากรังไข่หรือรังไข่หยุดการทำงาน ส่งผลให้ประจำเดือนมาคาดเคลื่อนจากปกติ เพื่อความแม่นยำควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

Q. อาการคนท้องจะเริ่มขึ้นเมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์หรือต้องรอถึง 1 เดือน

A.อาการคนท้องของคุณแม่แต่ละท่านมีช่วงเวลาที่แตกต่างกัน บางท่านอาจมีอาการเร็วในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการตั้งครรภ์ บางท่านอาจแสดงอาการในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ ทั้งนี้คุณแม่ควรหมั่นตรวจสอบตนเองและดำเนินการฝากครรภ์ เพื่อรับคำแนะนำการปฏิบัติตัวและวิธีการดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง

Q. เมื่อตั้งครรภ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าไหร่

A.โดยปกติแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะหนักเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 10-15 กิโลกรัม ซึ่งแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน จึงจำเป็นจะต้องคำนวณหาค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะกำหนดได้ว่าคุณแม่ควรจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นเท่าไหร่ และน้ำหนักที่เหมาะสมกับอายุครรภ์ในแต่ละไตรมาสควรอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่

Q. เราจะทราบเพศของทารกที่อยู่ในครรภ์ได้ตอนกี่เดือน?

A.การทราบเพศของทารก ทำได้โดยการตรวจด้วยการอัลตราซาวนด์ สามารถตรวจได้เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18-21 สัปดาห์ หรือเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์ แต่ในบางกรณีก็ตรวจพบเพศของทารกได้ตั้งแต่เดือนที่ 4 แล้ว ภาพในอัลตราซาวนด์ที่เห็น จะมีพัฒนาการของนิ้วมือและนิ้วเท้า ผิวหนัง และอวัยวะเพศภายนอก ทำให้เริ่มแยกออกว่าทารกเป็นเพศชายหรือหญิง

Q. ทานยาคุมกำเนิด หรือแอลกอฮอล์ โดยที่ไม่รู้ว่าตั้งครรภ์ จะอันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่?

A.ยาคุมกำเนิด จะส่งผลให้มดลูกมีเมือกมากขึ้น ทำให้ผนังมดลูกมีความบางและขัดขวางการเคลื่อนที่ของอสุจิไม่ให้ไปวางไข่ได้ ดังนั้นก็ไม่ต้องกังวลว่าการทานยาคุมตอนท้อง จะมีผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ แต่สำหรับแอลกอฮอล์นั้น ถ้าดื่มในปริมาณมาก ก็ถือเป็นความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ได้ แนะนำว่าควรงดดื่มในช่วงระหว่างตั้งครรภ์จะดีที่สุด